วันจันทร์ที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ความซื่อสัตย์

"...การที่จะประกอบกิจใดๆ ให้เจริญเป็น ผลดีนั้น ย่อมต้องอาศัยความอุตสาหะพากเพียร และความซื่อสัตย์เป็นรากฐานสำคัญ ประกอบกับจะต้องเป็นผู้มีจิตใจเมตตา กรุณา ไม่เบียดเบียนผู้อื่นและย่อมที่จะ บำเพ็ญประโยชน์ให้เกิดแก่ส่วนรวมตามโอกาส อีกด้วย..."

มงคลสูตรคำฉันท์

         เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๖ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงนำมงคลสูตรมาทรงพระราชนิพนธ์เป็นบทประพันธ์ร้อยกรองประเภทคำฉันท์ โดยทรงใช้คำประพันธ์เพียง ๒ ชนิด คือ กาพย์ฉบัง ๑๖ และอินทรวิเชียรฉันท์ ๑๑ ในด้านกลวิธีการประพันธ์ พระองค์ได้ทรงนำพระคาถาภาษาบาลีจากพระไตรปิฎกตั้ง แล้วแปลถอดความอย่างค่อนข้างจะตรงตัวออกมาเป็นบทร้อยกรองภาษาไทย การจัดวางลำดับของมงคลแต่ละข้อก็เป็นไปตามที่ปรากฏอยู่ในพระคาถาเดิม
       เนื้อหามีดังนี้

       สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสถึงอุดมมงคลหรือมงคลอันสูงสุด ๓๘ ประการไว้ในมงคลสูตร ซึ่งเป็นชื่อพระสูตรที่สำคัญบทหนึ่งในพระพุทธศาสนา มงคลสูตรปรากฏอยู่ในพระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย หมวดขุททกปาฐะ พระอานนทเถระได้กล่าวถึงที่มาของมงคลสูตรไว้ในคราวที่มีการสังคายนาพระไตรปิฏกครั้งที่ ๑ ว่า ท่านได้สดับรับฟังมาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคเจ่า ณ เชตะวันวิหาร เขตกรุงสาวัตถี มงคลสูตรเกิดขึ้นด้วยอำนาจคำถาม กล่าวคือสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเล่าให้พระอานนท์ฟังว่าเมื่อปฐมยามแห่งราตรีได้มีเทวดาองค์หนึ่งเข้ามาทูลถามพระองค์เรื่องมงคล เทวดาองค์นั้นได้กราบทูลว่า ได้เกิดความโกลาหลขึ้นทั้งในหมู่เทวดา และมนุษย์ที่มีลัทธิ เรื่องมงคลแตกต่างกัน เกิดความขัดแย้งโต้เถียงกันเป็นฝักฝ่ายตกลงกันไม่ได้ ความสับสนวุ่นวายเรื่องลัทธิมงคลนี้ยืดเยื้ออยู่เป็นเวลานานถึง ๑๒ ปี ในที่สุดท้าวสักกเทวราชจึงแต่งตั้งตนให้มาทูลถามพระพุทธองค์จึงตรัสตอบเรื่องมงคล ๓๘ ประการ เมื่อทรงเทศนาจบแล้ว เหล่าเทวดาทั้งหลาย ก็ได้บรรลุธรรม เมื่อราตรีนั้นผ่านพ้นไป พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงเรื่องมงคลนี้แก่พระอานนทเถระซ้ำอีกครั้งหนึ่ง แล้วให้นำไปเผยแผ่ต่อภิกษุทั้งหลาย